ในสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้พันเคลาส์ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก ได้ตั้งคำถามกับตนเองว่า สิ่งที่ตนเองและนาซีกระทำไปนั้นถูกแล้วหรือ ในการทัพตูนิเซีย ชเตาฟ์เฟนแบร์กได้รับบาดเจ็บจนพิการ ตาข้างซ้ายบอดสนิท แขนขวาขาด แขนซ้ายเหลือใช้งานได้เพียง 3 นิ้ว จึงถูกย้ายไปทำงานเอกสารที่เบอร์ลิน
ขณะเดียวกันที่เบอร์ลิน ในปี ค.ศ. 1942 เป็นต้นมา สถานการณ์ในแนวรบด้านตะวันตกเริ่มบ่งชี้แล้วว่า ไรช์เยอรมันภายใต้การนำของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะพ่ายแพ้แก่สัมพันธมิตรอย่างแน่นอน นายทหารเยอรมันกลุ่มหนึ่งทั้งประจำการและนอกประจำการ และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามฮิตเลอร์ โดยการนำของ ผู้พันเฮนนิง ฟอน เทรสคอว์ และพลเอกฟรีดริช ออลบริชท์ รองผู้บัญชาการหน่วยกำลังสำรองที่เบอร์ลิน ได้ตกลงที่จะปฏิบัติลับ ๆ คือ ลอบสังหารฮิตเลอร์ แล้วเปิดการเจรจาสันติกับสัมพันธมิตร แต่ทว่าก็ไม่สามารถที่จะเข้าถึงตัวฮิตเลอร์ได้สักที
เมื่อเทรสคอว์ได้พบกับชเตาฟ์เฟนแบร์ก ชเตาฟ์เฟนแบร์กแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องสังหารฮิตเลอร์เท่านั้น จึงจะหยุดสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ได้ โดยชเตาฟ์เฟนแบร์กจะเป็นผู้ลงมือเอง ที่สุด ในที่ประชุมตกลงกันว่า จะใช้แผน “วัลคือเรอ” ใช้ในการครั้งนี้ ซึ่งแผนวัลคือเรอเป็นแผนปฏิบัติการที่ใช้รองรับสถานการณ์เมื่อเกิดการจลาจลหรือรัฐประหารขึ้นที่เบอร์ลิน อันเป็นฐานอำนาจทั้งหมดของฮิตเลอร์และนาซี โดยชเตาฟ์เฟนแบร์ก อยู่ในตำแหน่งที่จะเข้าถึงตัวฮิตเลอร์ได้ และจะเป็นผู้นำแผนนี้ไปให้ฮิตเลอร์อนุมัติ ซึ่งพลเอกออลบริชท์จะเป็นผู้ปรับเปลี่ยนแผนเอง แต่ทว่าแผนนี้จะสำเร็จได้ ก็ต้องอาศัยการสั่งการใช้กำลังทหารของ พลเอกฟรีดริช ฟรอมม์ ผู้บัญชาการกองกำลังสำรองเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดไม่แน่ใจว่าฟรอมม์จะยืนอยู่ข้างไหน
เมื่อทุกอย่างพร้อม ในวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 ที่รังหมาป่า ฐานบัญชาการลับที่ปรัสเซียตะวันออก ชเตาฟ์เฟนแบร์กพร้อมด้วยนายทหารติดตามได้เข้าไปประชุมการวางแผนการรบที่นั่น เป็นโอกาสเดียวที่จะลอบสังหารฮิตเลอร์ได้ แม้การสื่อสารจะถูกตัดและระเบิดพลาสติกจะระเบิดตามแผนในเวลาเที่ยง และชเตาฟ์เฟนแบร์กสามารถเล็ดรอดกลับมายังเบอร์ลินได้ แต่ว่าที่เบอร์ลิน ปฏิบัติการวัลคือเรอก็ยังไม่เกิดขึ้นเพราะไม่แน่ใจว่าฮิตเลอร์เสียชีวิตแล้วหรือยัง ออลบริชท์ได้เพียงแต่สั่งให้กองกำลังสำรองจัดแถวเตรียมพร้อมรับคำสั่งเท่านั้น ท่ามกลางความสงสัยของกองกำลังทั้งหมด ปฏิบัติการจึงเริ่มอย่างฉุกละหุกในเวลาบ่าย โดยควบคุมตัวสมาชิกพรรคนาซีคนสำคัญ ๆ เช่น โยเซฟ เกิบเบลส์ และผู้บัญชาการตำรวจเบอร์ลินก็ยอมตาม แผนทั้งหมดดูเหมือนจะเป็นไปได้อย่างดี ฟรอมม์ก็ถูกควบคุมตัว ออลบริชท์ได้เข้าคุมเบอร์ลิน แต่ว่าในเวลาพลบค่ำ เมื่อปรากฏชัดเจนแล้วว่า ฮิตเลอร์ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมดก็เริ่มขัดขืนและต่อต้าน ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่สำเร็จ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดจบลงที่การประหารชีวิตหรือฆ่าตัวตาย รวมทั้งฟรอมม์ด้วย แม้กระทั่งจะพยายามกลับตัวมาต่อต้านเพื่อหวังจะให้ตนพ้นโทษ แต่ก็ไม่รอดเนื่องจากไม่สามารถหยุดยั้งการปฏิบัติการครั้งนี้ให้เกิดขึ้นได้